ตัวยาสมุนไพร-ลิ้นงูเห่า 1 ใน 6 ตัวยา

1402 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ตัวยาสมุนไพร ลิ้นงูเห่า

ลิ้นงูเห่า

ลักษณะของลิ้นงูเห่า

ต้นลิ้นงูเห่า
จัดเป็นพรรณไม้พุ่ม แตกกิ่งก้านสาขามาก มีความสูงได้ประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นเป็นสีน้ำตาลอมเขียว ส่วนกิ่งและก้านเป็นสีน้ำตาลแดง ตามข้อของลำต้นและโคนก้านใบมีหนามแหลมคมและยาวสีน้ำตาลข้อละ 2 คู่ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่เจริญเติบโตได้ดีในดินที่ร่วนซุยและมีความชุ่มชื้น ในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วไป

ใบลิ้นงูเห่า
ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ลักษณะของใบเป็นรูปรียาว ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร ผิวใบเกลี้ยง พื้นใบเป็นสีเขียวเข้มและเป็นมัน เส้นใบและก้านเป็นสีแดง ก้านใบสั้น ยาวได้ประมาณ 5 มิลลิเมตร และโคนก้านมีหนามแหลม 1 คู่ โค้งงอ ยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร สีม่วงชี้ลง

ดอกลิ้นงูเห่า
ออกดอกเป็นช่อตั้ง โดยจะออกที่ปลายยอด ช่อดอกยาวได้ประมาณ 3-9 เซนติเมตร ช่อดอกอ่อนจะมองเห็นใบประดับรูปกลมรีขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร หุ้มดอกไว้ภายใน ดอกจะมีใบประดับขนาดใหญ่เรียงกันเป็นรูปทรงกระบอกสีเขียว ใบประดับที่โคนเป็นสีเขียว ปลายใบประดับเป็นสีม่วง หรือทั้งใบประดับเป็นสีแดงอมเขียวหรือสีม่วงอมน้ำตาล รูปไข่เกือบกลม ปลายเป็นติ่งแหลม ส่วนกลีบเลี้ยงดอกจะมี 4 กลีบ เรียงตรงข้ามเป็นคู่ ยาวประมาณ 0.8-1 เซนติเมตร คู่นอกจะมีขนาดใหญ่กว่าคู่ใน ปลายเป็นติ่งหนาม เมื่อดอกโตเต็มที่ ดอกจะโผล่เลยกลีบประดับออกมา โดยกลีบดอกจะเป็นสีเหลืองหรือสีส้ม กลีบดอกคล้ายรูปปากเปิด มี 5 กลีบ ที่โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ปลายแยกเป็น 2 ปาก แบ่งเป็นปากบนมีกลีบมนขนาดใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่จะมี 4 กลีบ เรียงซ้อนแผ่ชิดกัน บานแผ่ออก ยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร และกลีบล่างอีก 1 กลีบ ที่มีขนาดเล็กกว่าและพับงอเล็กน้อย กลีบดอกจะหลุดร่วงได้ง่าย ดอกมีเกสรเพศผู้ 2 อัน ยาวได้ประมาณ 2 เซนติเมตร ยื่นพ้นจากปากหลอดกลีบดอก มีเกสรเพศผู้ที่เป็นมัน 2 อัน สั้น ๆ รังไข่มี 2 ช่อง ส่วนก้านเกสรเพศเมียยาว โดยจะยาวได้ประมาณ 3 เซนติเมตร

ผลลิ้นงูเห่า
ผลมีลักษณะเป็นฝักรูปมนรี รูปไข่หรือแกมรูปขอบขนาน ลักษณะแบนและยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร เมื่อแห้งแล้วจะแตกออกเป็น 2 ซีก ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 2-4 เมล็ด (ซีกละ 1-2 เมล็ด)



สรรพคุณของลิ้นงูเห่า

ใบลิ้นงูเห่า
มีรสจืดเย็น ใช้เป็นยาทะลวงลมปราณ แก้โรคเบาหวาน รักษาโรคคางทูม ช่วยถอนพิษไข้ พิษไข้ทรพิษ แก้ปวดฟัน เหงือกบวม แก้ริดสีดวงทวาร ชาวปะหล่องจะใช้ใบนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาช่วยลดอาการจากไข้มาลาเรีย (มีรสขมมาก) ตำรายาไทยจะใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาทำให้เลือดไหลเวียนได้ดี  แต่จะนิยมใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียดผสมกับเหล้าแล้วคั้นเอาน้ำดื่ม ส่วนกากเอามาพอกหรือทาเป็นยาแก้ลมพิษ รักษาเม็ดผื่นคันตามผิวหนัง แก้ไฟลามทุ่ง แก้ขยุ้มตีนหมา แก้โรคเริม แก้เริมบริเวณผิวหนัง งูสวัด ช่วยถอนพิษจากเม็ดตุ่มฝีดาษ รักษาโรคฝีดาษ แก้ฝีที่ฝ่ามือ แก้แผลกลาย เป็นยาถอนพิษ แก้พิษงูกัด พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย เช่น แมงป่อง ตะขาบ ผึ้ง ช่วยถอนพิษอักเสบจากแมลงสัตว์กัดต่อย  (ใช้ใบสดครั้งละ 1 กำมือ นำมาตำให้ละเอียด หรือจะแทรกด้วยพิมเสนเพียงเล็กน้อยด้วยก็ได้ แล้วนำมาทาหรือนำมาผสมกับเหล้าแล้วพอกบ่อย ๆ บริเวณที่เป็น) หรือใช้เป็นยาแก้ฟกช้ำ เคล็ดขัดยอก ช่วยรักษาแผลฟกช้ำจากการกระทบกระแทก แผลสุนัขกัด แผลจากของมีคมบาด หรือแผลมีเลือดออก (ช่วยห้ามเลือด) ช่วยแก้ปวดแผล แก้อาการปวดจากปลาดุกแทง รวมไปถึงแก้พิษจากไฟลวก น้ำร้อนลวก แก้ยุงกัด แก้ฝีหนอง และแก้โรคฝีต่าง ๆ เพียงใช้ใบสดประมาณ 2-10 ใบ นำมาขยี้หรือตำให้แหลกใช้เป็นยาพอกหรือผสมกับเหล้าตำพอกบริเวณที่เป็น ส่วนชาวโอรังอัสลีในรัฐเประที่ประเทศมาเลเซียจะใช้ใบสดเป็นยากำจัดหูด

รากลิ้นงูเห่า
มีรสจืด ใช้เป็นยาแก้ตาเหลือง หน้าเหลือง เมื่อยตัว กินข้าวไม่ได้ แก้อาการเจ็บท้อง แก้ผิดอาหาร แก้ปวดฟัน ใช้ฝนกับเหล้าดื่มและทาแก้พิษงู ถอนพิษตะขาบ แมงป่อง แมลงสัตว์กัดต่อย ในมาเลเซียจะใช้สมุนไพรลิ้นงูเห่าเป็นยาแก้ปวดฟันและแก้งูกัด ส่วนในประเทศไทยจะใช้เป็นยาแก้พิษจากงูเห่ากัด โดยใช้ตำพอกปากแผลส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งใช้ผสมกับเหล้ากิน เพื่อเป็นการช่วยยืดเวลาก่อนที่จะไปหาหมอ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)



ขนาดและวิธีใช้ : ใบสดให้ใช้ครั้งละ 10-20 กรัม นำมาตำคั้นเอาน้ำรับประทาน หรือใช้ตำพอกแผลภายนอกตามต้องการ ส่วนใบแห้งให้ใช้ครั้งละ 6-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน ส่วนการใช้ตาม หากใช้รักษาแมลงสัตว์กัดต่อยเป็นผื่นคันให้ใช้ใบสด 5-10 ใบ นำมาตำขยี้ทาบริเวณที่เป็นแผลที่แพ้ จะช่วยให้ยุบหายได้ผลดี ถ้าใช้รักษาแผลโดนน้ำร้อนลวกหรือไฟไหม้ ให้ใช้ใบสดนำมาตำเคี่ยวกับน้ำมะพร้าวหรือน้ำมันงา เอากากพอกบริเวณที่เป็น แผลจะแห้งไว หรือจะนำใบมาตำผสมกับเหล้า ใช้พอกบริเวณที่เป็นจะมีสรรพคุณช่วยดับพิษร้อนได้ดี และสำหรับการใช้รักษาอาการอักเสบ ถอนพิษ แก้เริม งูสวัด ให้ใช้ใบสด (ไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไป) ประมาณ 10-20 ใบ นำมาตำผสมกับเหล้าหรือน้ำมะนาว คั้นเอาน้ำดื่มหรือเอาน้ำทาแผลและเอากากพอกบริเวณแผล

ข้อห้ามใช้ : สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้



ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของลิ้นงูเห่า

1.ในใบลิ้นงูเห่าพบสารหลายชนิด เช่น Acetylbarlerin, Barlerin, Bataine, Scutellarein-7-Rhamnosyl glucoside, Shanzhiside methyl ester เป็นต้น[4] ใบและก้านมีสารประกอบพวก iridoid glycosides

2.จากการทดลองในสัตว์พบว่า ใบลิ้นงูเห่ามีฤทธิ์ลดอาการอักเสบ

3.สารสกัดจากต้นลิ้นงูเห่าจะมีสารจำพวก iridoid ที่ช่วยบรรเทาอาการอักเสบและมีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อไวรัสได้ด้วย เช่น โรคงูสวัด จึงสามารถนำมาใช้เป็นยารักษาการอักเสบของโรคเริมหรือแมลงสัตว์กัดต่อยได้

4.สารสกัดด้วยเมทานอลจากส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นลิ้นงูเห่า เมื่อนำมาใช้กับหนูแรทที่ถูกทำให้เป็นเบาหวาน พบว่ามีฤทธิ์ลดน้ำตาลได้ปานกลาง

5.สารสกัดเมทานอลจากส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นลิ้นงูเห่ามีฤทธิ์ลดการอักเสบแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรังในหนูแรท โดยไม่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร

6.สารสกัดด้วยคลอโรฟอร์มจากส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นลิ้นงูเห่ามีฤทธิ์ช่วยลดอาการปวดในหนูเม้าส์ที่ทำให้เกิดอาการปวดด้วย acetic acid (formalin) แต่ใช้ไม่ได้ผลกับอาการปวดจากความร้อน

7.จากการทดสอบความเป็นพิษ เมื่อให้หนูเม้าส์ได้รับสารสกัดด้วยเมทานอลจากส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นลิ้นงูเห่า โดยการป้อนหรือฉีดเข้าทางช่องท้อง พบว่ามีความเป็นพิษปานกลาง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้