ระบบน้ำเหลือง คืออะไร
ระบบน้ำเหลือง (Lymphatic system) คือเครือข่ายที่เชื่อมต่อระหว่างเนื้อเยื่อ หลอดเลือด และอวัยวะในร่างกาย เพื่อไหลเวียนของของเหลวไร้สี ที่เรียกว่า น้ำเหลือง ให้กลับเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิต น้ำเหลืองจะไหลเวียนไปทั่วทั้งร่างกาย คล้ายคลึงกับการไหลเวียนของเลือด

หน้าที่หลักๆ ของระบบน้ำเหลือง มีอะไรบ้าง

รักษาความสมดุลของระดับน้ำในร่างกาย
โดยการเก็บสะสมน้ำส่วนเกินที่ไหลออกมาจากเซลล์และเนื้อเยื่อทั่วร่างกาย แล้วส่งคืนกลับเข้าสู่กระแสเลือด

ดูดซึมไขมันและวิตามิน
ที่ละลายในไขมัน ที่อยู่ในระบบทางเดินอาหาร แล้วส่งคืนกลับเข้าสู่กระแสเลือด

ปกป้องร่างกายจากเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมต่างๆ
โดยการผลิตเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) และเซลล์ภูมิคุ้มกันอื่นๆ ที่ช่วยกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย เช่น เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัส เป็นต้น ลำเลียงและกำจัดเซลล์ที่ผิดปกติออกจากน้ำเหลือง
ส่วนประกอบของระบบน้ำเหลือง
ระบบน้ำเหลืองนั้นมีเครือข่ายที่ซับซ้อน ประกอบไปด้วยส่วนต่างๆ ที่สรุปได้

น้ำเหลือง
น้ำเหลือง คือ ของเหลวส่วนเกินที่ไหลออกมาจากเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกาย รวมเข้ากับสารอื่นๆ เช่น โปรตีน แร่ธาตุ ไขมัน เซลล์ น้ำเหลืองนั้นจะช่วยลำเลียงเซลล์เม็ดเลือดขาวไปยังจุดต่างๆ ในร่างกาย เพื่อช่วยปกป้องร่างกายจากเชื้อโรค และการติดเชื้อ

ต่อมน้ำเหลือง
ต่อมน้ำเหลือง คือ ต่อมที่มีลักษณะคล้ายเม็ดถั่ว ทำหน้าที่คอยสังเกตการณ์และกรองเอาเซลล์ที่เสียหายและเซลล์มะเร็งออกจากน้ำเหลือง นอกจากนี้ยังผลิตและกักเก็บเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ และเซลล์ภูมิคุ้มกันอื่น ๆ ที่โจมตีและกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย

ในร่างกายของเรานั้นจะมีต่อมน้ำเหลืองอยู่ประมาณ 600 ต่อม กระจายอยู่ตามจุดต่างๆ ทั่วร่างกาย และเมื่อร่างกายเกิดการติดเชื้อ ต่อมน้ำเหลืองก็มักจะตอบสนองด้วยการบวมขึ้น เพราะมีการสะสมของเซลล์เม็ดเลือดขาว เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อจุลินทรีย์อื่นๆ ที่อยู่ในต่อมน้ำเหลือง

ท่อน้ำเหลือง
ท่อน้ำเหลืองคือเครือข่ายของท่อ ที่ทำหน้าที่ในการลำเลียงน้ำเหลืองไปยังเนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกาย ท่อน้ำเหลืองนั้นจะเก็บรวบรวมแล้วเซลล์และน้ำเหลืองส่วนเกิน ก่อนจะนำไปกรองที่ต่อมน้ำเหลือง ท่อน้ำเหลืองทำงานคล้ายกับหลอดเลือด แต่จะมีแรงดันในท่อน้ำเหลืองต่ำกว่ามาก และมีวาล์วสำหรับเปิดปิด เพื่อช่วยให้น้ำเหลืองไหลไปในทางเดียวกัน

ท่อรวบรวม
ท่อรวบรวม (Collecting ducts) คือท่อที่เชื่อมต่อระหว่างท่อน้ำเหลืองกับหลอดเลือดดำ ทำหน้าที่ในการส่งน้ำเหลืองกลับคืนเข้าสู่กระแสเลือด เพื่อให้ปริมาณและแรงดันของเลือดอยู่ในระดับที่ปกติ นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันไม่ให้มีน้ำสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อมากเกินไปอีกด้วย

นอกจากนี้ อีกส่วนประกอบหนึ่งของระบบทางเดินน้ำเหลือง ก็คือ อวัยวะน้ำเหลือง ซึ่งเป็นอวัยวะศูนย์กลางในการผลิตเซลล์ที่ช่วยต่อต้านสิ่งแปลกปลอมและเชื้อโรค อวัยวะน้ำเหลืองนั้นได้แก่

ต่อมน้ำเหลือง
ต่อมทอนซิล (Tonsils)
ต่อมไทมัส (Thymus Gland)
ม้าม (Spleen)

ต่อมน้ำเหลือง (Lymph node) เป็นต่อมที่เชื่อมต่อกับหลอดน้ำเหลือง โดยกระจายอยู่เป็นระยะ ๆ ระหว่างทางเข้าสู่หลอดเลือดดำและหัวใจ เช่น ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้และขาหนีบ ภายในต่อมน้ำเหลืองมีเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์อยู่เป็นจำนวนมาก โดยจะช่วยในการกรองแบคทีเรียและสิ่งแปลกปลอมไม่ให้เข้าสู่กระแสเลือด

ต่อมทอนซิล (Tonsil) เป็นต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ มีเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ ทำหน้าที่ดักจับและทำลายจุลินทรีย์ที่ผ่านมาในอาหารไม่ให้ผ่านเข้าสู่หลอดอาหารและกล่องเสียง ถ้าทอนซิลติดเชื้อจะมีอาการอักเสบและบวมขึ้น

ต่อมไทมัส (Thymus gland) เป็นต่อมไร้ท่อมีตำแหน่งอยู่ตรงทรวงอก ด้านหน้าหลอดเลือดใหญ่ของหัวใจ เนื้อเยื่อส่วนใหญ่ของต่อมไทมัสทำหน้าที่พัฒนาเม็ดเลือดขาวชนิด ที ลิมโฟไซต์ (T-lymphocyte) โดยเซลล์ที่สร้างจะถูกส่งเข้าสู่กระแสเลือดและน้ำเหลืองไปสู่อวัยวะต่าง ๆ เพื่อทำหน้าที่ต่อต้านเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย รวมถึงการต่อต้านอวัยวะที่ปลูกถ่ายจากผู้อื่นด้วย

ม้าม (spleen) เป็นอวัยวะน้ำเหลืองที่ใหญ่ที่สุด มีเส้นเลือดมาเลียงมากมาย ไม่มีท่อน้ำเหลืองเลย สามารถยืดหดตัวได้ นุ่มมีสีม่วง อยู่ใกล้ๆกับกระเพาะอาหารใต้กระบังลมข้างซ้าย รูปร่างคล้ายเมล็ดถั่ว ภายในจะมีลิมโฟไซต์อยู่มากมายหน้าที่ของม้ามมีดังนี้
1)ป้องกันเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่กระแสเลือด
2) สร้างเม็ดเลือดขาว พวกลิมโฟไซต์ และโมโนไซต์ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันสิ่งแปลกปลอมและเชื้อโรคที่เข้าไปในกระแสเลือด
3) สร้างแอนติบอดี
4) ทำลายเม็ดเลือดแดงที่หมดอายุแล้ว
โรคเกี่ยวกับระบบน้ำเหลืองที่พบได้บ่อย

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma)
โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองหมายถึงโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นกับต่อมน้ำเหลือง ทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนขึ้นมามากเกินไปโดยไม่สามารถควบคุมได้ โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมีอยู่หลายประเภท เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน และชนิดนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin Lymphoma) เป็นต้น

ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ
เมื่อต่อมน้ำเหลืองติดเชื้อ ก็มักจะทำให้ต่อมน้ำเหลืองมีอาการอักเสบและบวมขึ้น การติดเชื้อที่ทำให้ต่อมน้ำเหลืองบวมที่พบได้มากที่สุดคือ อาการคออักเสบ โรคโมโนนิวคลิโอซิส (Mononucleosis) การติดเชื้อเอชไอวี และการติดเชื้อที่ผิวหนัง

โรคบวมน้ำเหลือง (Lymphedema)
เมื่อระบบน้ำเหลืองทำงานผิดปกติ เช่น มีสิ่งอุดตันในท่อน้ำเหลือง ก็จะทำให้เกิดการสะสมของน้ำเหลือง จนเกิดเป็นอาการบวม เรียกว่า โรคบวมน้ำเหลือง การอุดตันของท่อน้ำเหลืองนี้อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัด การฉายรังสีบำบัด หรือการบาดเจ็บ
โรคน้ำเหลืองไม่ดี คือ อะไร

ภาวะน้ำเหลืองไม่ดี Poor lymph disorder คือ ปรากฏการณ์ที่อวัยวะมีการอัดอั้น (congestion) ระบายน้ำเหลืองไม่ราบรื่น เมื่อเรื้อรังก็จะอุดอู้ ของเสียจะคั่งค้าง ไม่ถ่ายออกเทไป ทำให้ก่ออักเสบได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อเกิดมีการแสลงอาหาร จากผลิตภัณฑ์สัตว์ (เนื้อไข่นม) ปนการแทรกซ้อนที่ติดเชื้อตามผิวหนัง กลายเป็นโรคน้ำเหลืองเสีย Bad lymph sickness

โรคน้ำเหลืองไม่ดี มีอาการและอาการแสดงที่หลากหลายกว่าที่เราเคยรู้จักกันมา อาจเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มโรค Superfamily  ที่ครอบคลุมไปถึง เช่น โรคหลอดเลือดขอด โรคปวดเข่า(เสื่อม) โรคสะเก็ดเงิน โรคผิวหนังผื่นคัน โรคSLE โรครูมาตอยด์ โรคบวมไขมัน โรคอ้วน โรคภาวะที่ช่วงล่างใหญ่ผิดสัดส่วน ต้นขาโต น่องอวบ โรคภาวะบวมต่างๆที่พบได้ในโรคเก๊าต์ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง รวมทั้งโรคมะเร็งและผลข้างเคียงจากมะเร็ง หรือจากการผ่าตัดรักษามะเร็ง เฉพาะกรณีหลังนี้ ประมาณว่า เรามีผู้ป่วยบวมไม่น้อยกว่า 300,000 คนทั่วประเทศไทย ที่เคยผ่านการผ่าตัดมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก

ความเรื้อรังแห่งโรคทั้งหลายที่เมื่อเป็นมานานถึงระยะหนึ่งก็จะก่อสภาวะน้ำเหลืองไม่ดี ซึ่งจะขยายความรุนแรงของอาการ และเพิ่มการลุกลามของโรค อาการเมื่อยน่อง เจ็บขา ปวดเอวในคนวัยทำงาน  อาการ ปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัว เจ็บไปทั้งตัว อาการเลือดลมไม่เดิน  ในผู้สูงอายุ อาการปวดในผู้ป่วยมะเร็ง เหล่านี้ ล้วนมีพื้นฐานร่วมบนภาวะน้ำเหลืองไม่ดี

วิธีการรักษาโรคน้ำเหลืองไม่ดี

“วิธีรักษาน้ำเหลืองไม่ดี ด้วยการเลือกทานอาหารเพื่อดูแลปอดและผิวหนัง”
พยายามเลือกทานอาหารที่ช่วยบำรุงรักษาปอดและผิวหนัง โดยให้พยายามงดการทานอาหารที่มีรสจัดมาก, งดทานของหวานและของมัน, งดทานเนื้อสัตว์โดยเลือกกินให้พอดีในแต่ละมื้อ และพยายามเพิ่มปริมาณการทานผักให้มากขึ้น เพราะหากผู้ที่มีอาการน้ำเหลืองเสียไม่ทานผัก จะส่งผลต่อระบบขับถ่าย ทำให้การขับของเสียและพิษไม่ดี

“การดูแลตัวเองเมื่อรู้ว่าเป็นน้ำเหลืองไม่ดีโดยรวม”
สำหรับผู้ที่มีปัญหาน้ำเหลืองไม่ดี ให้พยายามงดของทอด, งดของมันเช่น กะทิ, อาหารรสเผ็ด, ไม่ทานน้ำแข็ง ควรพยายามออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ ไม่เครียดและเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่ไม่ทำร้ายผิว “ไม่ทำให้ผิวแห้ง” หรืออาจจะเลือกใช้ประเภทที่เป็นสมุนไพร และเพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างถูกต้อง ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจสุขภาพและวิเคราะห์โรคได้อย่างถูกต้องต่อไป

“แก้ปัญหาผิวที่เกิดจากอาการน้ำเหลืองไม่ดี ด้วยการทำให้ผิวหนังแข็งแรงขึ้น”
เคล็ดลับการเลือกทานอาหารที่ส่งผลดีต่อผิวหนังและสุขภาพของ โดยการทานอาหารที่อุดมไปด้วย เบต้าแคโรทีน ซึ่งมีอยู่ในผักและผลไม้ที่มี สีเขียว, เหลือง, แดง, ม่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผักและผลไม้ที่มี สีเขียว, เหลือง, แดง, ม่วง ยิ่งมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีเบต้าแคโรทีนสูงเท่านั้น ผักและผลไม้ที่จะทำให้เราสามารถบอกลาปัญหาน้ำเหลืองไม่ดี ได้แก่ ผักคะน้า, ใบตำลึง, ใบชะพลู, ผักบุ้ง, แครอท, มะละกอ, แตงโม, สับปะรด, ฟักทอง

นอกจากนี้ วิตามินอี ที่อยู่ในธัญพืชต่างๆ เช่น ข้าวกล้อง, เมล็ดทานตะวัน, จมูกข้าวสาลี ก็เป็นตัวบำรุงผิวหนังของผู้มีอาการน้ำเหลืองเสียได้เป็นอย่างดี และในข้าวกล้อง ยังมีวิตามินบี 5 ซึ่งจัดเป็นวิตามินที่มีฤทธิ์แก้แพ้ ช่วยทำให้ผิวหนังแข็งแรงเพิ่มขึ้น อีกทั้งในเมล็ดทานตะวันยังมี Zinc ซึ่งมีฤทธิ์ในการลดรอยแผลก็น่าสนใจ

“อาบน้ำร้อนสลับน้ำเย็นจะช่วยให้ผิวที่เกิดภาวะน้ำเหลืองไม่ดีหายได้”
ตามหลักวิทยาศาสตร์จะพบว่า เมื่อเราอาบน้ำด้วยน้ำร้อนเส้นเลือดจะขยายตัวเพิ่มขึ้นพร้อมกับการสูบฉีด เลือด เมื่อสลับไปอาบน้ำเย็นทันทีในทางตรงกันข้ามกันเส้นเลือดก็จะหดตัว ทำให้เส้นเลือดเกิดการใช้งานอยู่เสมอและส่งผลดีต่อความแข็งแรงของผิวอีกด้วย

วิธีอาบน้ำร้อนสลับเย็นช่วงฟื้นฟูผิวน้ำเหลืองไม่ดี
วิธีการอาบน้ำร้อนสลับเย็นถือเป็นวิธีที่ดีอีกทางหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถใช้ได้กับทุกวัย เช่น วัยเด็กที่มีภูมิต้านทานน้อยอาจส่งผลให้เกิดอาการป่วยจากหวัดได้

เทคนิคการอาบก็ไม่ยาก เพียงต้มน้ำอุ่นๆหรือจะใช้เครื่องทำน้ำอุ่นก็ได้ อาบสักประมาณ 5 นาทีจนร่างกายรู้สึกอุ่น จากนั้นก็สลับอาบน้ำเย็นต่อ 5 นาที ซึ่งจะส่งผลให้รู้สึกสดชื่นและขอแนะนำให้อาบในช่วงเช้าเพื่อให้ได้ผลสูงสุด แถมช่วยให้หน้าตาสดชื่นจากการสัมผัสกับน้ำเย็นๆอีกด้วย

* ไม่แนะนำสำหรับผู้สูงอายุ  เพราะด้วยเส้นเลือดที่อาจจะเสื่อมไปตามวัย จึงไม่เหมาะที่จะทำให้เส้นเลือดขยายในแบบ รวดเร็ว เพราะอาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี จึงต้องระมัดระวัง

ขอบคุณที่มา:
https://www.sanook.com/health/
http://womenways.club/





Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้