พุทธรักษา


พุทธรักษา ชื่อสามัญ Indian shot, India short plant, India shoot, But Sarana, Cannas, Canna lily

พุทธรักษา ชื่อวิทยาศาสตร์ Canna indica L.

สมุนไพรพุทธรักษา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า บัวละวงศ์ (ลำปาง), บัวละวง (ลพบุรี), พุทธศร (พายัพ), พุทธสร (ภาคเหนือ), สาคูหัวข่า สาคูมอญ (ภาคกลาง), ปล้ะย่ะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), กวงอิมเกีย เซียวปาเจีย มุยหยิ่งเจีย (จีน), เหม่ยเหยินเจียว เสี่ยวปาเจียว (จีนกลาง) เป็นต้น

 

ลักษณะของพุทธรักษา

     ต้นพุทธรักษา เป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย แอฟริกา และอเมริกา และภายหลังได้กระจายพันธุ์ออกไปยังเอเชียเขตร้อน โดยจัดเป็นไม้ล้มลุกเนื้ออ่อน มีอายุหลายปี ขึ้นรวมกันเป็นกอและเป็นต้นเดี่ยวไม่แตกกิ่งก้านสาขา จะมีข้อแต่ค่อนข้างห่างกัน มีความสูงของลำต้นประมาณ 1.5-2.5 เมตร ลำต้นมีความเหนียวและอุ้มน้ำ มีเหง้าหัวสีขาวแตกแขนงอยู่ใต้ดิน (รากมีความเฉลี่ย 11.8 เซนติเมตร มีความยาวรอบรากเฉลี่ย 0.2 เซนติเมตร โดยความยาวของรากจะมีความสัมพันธ์กับขนาดของรากด้วย[6]) ส่วนของลำต้นเทียมบนดินจะเกิดจากใบเรียงซ้อนเป็นลำตรงกลม ทั้งต้นไม่มีขนปกคลุม แต่บางครั้งอาจพบผงเทียนไขปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยการแยกหน่อและวิธีการเพาะเมล็ด (แต่วิธีที่นิยมใช้และได้ผลดีคือวิธีการแยกหน่อ) ชอบดินเหนียวชุ่มชื้นและมีอินทรียวัตถุสูง หรือที่ระดับน้ำ 10-20 เซนติเมตร ชอบแสงแดดแบบเต็มวันถึงครึ่งวัน พุทธรักษาเป็นพันธุ์ไม้ที่มีการกระจายพันธุ์อยู่ในป่าเมืองไทยหลายชนิด โดยส่วนใหญ่มักจะพบขึ้นตามป่าดงดิบ ป่าดงดิบแล้งในที่ลุ่ม หรือตามลำห้วย 

     ใบพุทธรักษา ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน รูปรีแกมขอบขนานกว้าง หรือเป็นรูปรียาว ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบเป็นสีเขียว สีแดง สีเขียวขลิบแดง หรือสีม่วงเข้ม ภายในเป็นสีอมม่วงแดง ใบมีขนาดกว้างประมาณ 15-25 เซนติเมตรและยาวประมาณ 35-60 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม เส้นใบคล้ายขนนก กลางใบเป็นเส้นนูนเห็นได้ชัด มีก้านใบยาวเป็นกาบใบหุ้มลำต้นซ้อนสลับกัน

     ดอกพุทธรักษา ดอกจะมีหลายสีด้วยกัน เช่น สีแดง สีแดงอมเหลือง สีส้ม สีเหลือง สีชมพู สีขาว ฯลฯ สามารถออกดอกได้ตลอดปี โดยจะออกดอกเป็นช่อบริเวณปลายยอดของลำต้น ก้านช่อดอกยาว ช่อหนึ่งมีความยาวประมาณ 20-25 เซนติเมตร ช่อดอกมีดอกย่อยหลายดอก ประมาณ 8-10 ดอก ช่อดอกมีรูปคล้ายทรงกระบอก เมื่อดอกบานจะแตกออกเป็นกลีบ 3 กลีบ ปลายกลีบแหลม ดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 8-9 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยง 3 กลีบ เป็นสีเขียวอ่อนและมีขนาดเล็ก ยาวประมาณ 1.2 เซนติเมตร หุ้มอยู่บริเวณโคนดอก รูปไข่กลมรี ดอกมีผงเทียนไขปกคลุม มีเกสรเพศผู้เป็นหมันมีลักษณะคล้ายกลีบดอกเป็นสีส้มแดง

     ผลพุทธรักษา ผลเป็นผลแห้ง ลักษณะเป็นรูปทรงกลม เป็นพู 3 พู ผลมีขนาดเท่ากับผลมะไฟ ผิวผลขรุขระ เปลือกนอกเป็นสีเขียวและมีขนหรือหนามอ่อน ๆ คล้ายกับลูกละหุ่งหรือลูกเร่ว โดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ดสีขาวหลายเมล็ด พอแก่เป็นสีน้ำตาลมัน

สรรพคุณของพุทธรักษา
1.เมล็ดมีรสเมาเย็น ใช้ตำพอกแก้อาการปวดศีรษะได้
2.ดอกเป็นยาช่วยสงบจิต ทำให้หัวใจสดชื่น
3.ดอกใช้เป็นยาขับพิษร้อน ขับน้ำชื้นในร่างกาย
4.ช่วยลดความดันโลหิต
5.เหง้าเป็นยาขับเหงื่อปัสสาวะในอาการไข้และอาการบวมน้ำ
6. เหง้ามีสรรพคุณแก้วัณโรค แก้อาการไอ
7. เหง้าใช้ต้มกินเป็นยาแก้อาเจียนเป็นเลือด กระอักเลือด และไอมีเลือด
8. ใบช่วยแก้อาเจียน
9. ช่วยแก้อาการปวดฟัน ด้วยการใช้เหง้าแห้งผสมกับข้าวเหนียว แล้วนำมาตุ๋นกับไก่กิน
10. เหง้ามีรสเย็นฝาดขื่น เป็นยาบำรุงปอด แพทย์ตามชนบทจะใช้เหง้านำมาต้มกินเป็นยาบำรุงปอด
11. ใบช่วยแก้อาการจุกเสียด แก้ท้องเสีย
12. เหง้าเป็นยาแก้อาการท้องร่วง
13. ช่วยแก้โรคบิด บิดเรื้อรัง
14. ช่วยแก้โรคตับอักเสบ แก้ตับอักเสบติดเชื้อ ตับอักเสบอย่างเฉียบพลันแบบดีซ่าน มีอาการตัวเหลือง ให้ใช้เหง้าสดนำมาต้มกับน้ำ แบ่งกินวันละ 2 เวลา เช้าและเย็น
15. ดอกสด นำมาตำให้ละเอียดใช้พอกแผล ห้ามเลือด รักษาบาดแผลสด หรือบาดแผลมีหนอง แก้ฝีหนองได้ บ้างว่าใช้ดอกห้ามเลือดบาดแผลภายนอกให้ใช้ดอกแห้ง 10-15 กรัม
16. เหง้าใช้เป็นยาตำพอกรักษาแผลอักเสบบวม ช่วยสมานแผล แก้ฝีหนองปวดบวม แก้ฟกช้ำ

ประโยชน์ของพุทธรักษา
1.เหง้าสามารถนำมาใช้ประกอบอาหารได้หลายแบบ เช่นเดียวกับเผือกและมัน
2.ชาวมาเลเซียจะใช้เหง้าปรุงเป็นอาหาร
3.ชาวอินเดียจะใช้ก้านใบผสมกับข้าว พริกไทย และน้ำ นำมาต้มให้เดือดให้วัวกินเป็นยาแก้พิษเนื่องจากไปกินหญ้ามีพิษมา
4.ใยจากก้านใบยังสามารถนำมาใช้แทนปอกระเจาได้ในอุตสาหกรรมทำเชือกและถุงเท้า
5.ลำต้นใต้ดินหรือเหง้าสามารถนำมาใช้ทำแป้งที่เรียกว่า Canna starch ได้
6.ใบพุทธรักษาสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น การใช้มุงหลังคา ทำกระทง ทำเชือก
7.เมล็ดสามารถนำมาใช้ทำเป็นสร้อยและร้อยเป็นสายประคำได้ โดยการเก็บเมล็ดที่โตเต็มที่แล้ว แต่ก่อนที่ผลจะสุกแกะเปลือกออกนำไปตากแห้ง เมล็ดจะแข็งและเป็นสีม่วงเข้ม แล้วนำมาเจาะรูร้อยเป็นสายประคำได้สวยงามมาก[5] ส่วนชาวสเปนจะนำเมล็ดมาทำลูกปัด
8.เครื่องดนตรีที่ชื่อว่าฮอชฮา (Hoxha) ของชาวซิมบับเวที่ใช้เขย่านั้น ก็ใช้เมล็ดพุทธรักษาเป็นส่วนประกอบเช่นกัน
9.ใบสามารถนำมาใช้ทำเป็นกระดาษสา ใช้ห่อของ และให้สีจากธรรมชาติ การสกัดสีจากใบพุทธรักษา มีการนำมาใช้แต่งงานศิลปะ วาดภาพ พิมพ์ภาพ ทั้งใบและกาบใบยังสามารถนำมาใช้ทำเป็นปุ๋ยหมักได้อีกด้วย
10.กาบใบพุทธรักษานำมาตากแดดให้แห้ง สามารถนำมาประดิษฐ์เป็นของใช้หรือของเล่นต่าง ๆ ได้ เช่น ตุ๊กตา ปลาตะเพียน ฯลฯ
11.ดอกพุทธรักษาสามารถนำมาสกัดสีทำเป็นสีสำหรับย้อมผ้าได้ แต่จะติดสีไม่มากนักและสีไม่สด และนิยมใช้ตัดดอกปักแจกัน
12.ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปตามริมสวนน้ำ ริมคูน้ำที่โล่งแจ้ง ตามร่องระบายน้ำ ริมถนนทางเดิน หรือปลูกลงในกระถางเพื่อประดับอาคารบ้านเรือนก็ได้
13.เนื่องจากดอกพุทธรักษามีความสวยงามและมีหลายพันธุ์หลายสี แต่เมื่อดอกโรยควรตัดพุ่มใบนั้นทิ้งไป การดูแลรักษาก็ค่อนข้างง่าย เพราะสามารถทนทานต่อโรคต่าง ๆ ได้ดี
14.ความหมายของดอกพุทธรักษา และความเป็นมงคล ตั้งแต่มีการกำหนดให้วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันพ่อแห่งชาติ ก็ได้มีการกำหนดให้ “ดอกพุทธรักษาสีเหลือง” เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ประจำวันพ่อ ด้วยเพราะชื่ออันเป็นมงคลของคำว่า “พุทธรักษา” ที่หมายถึง พระพุทธเจ้าทรงปกป้องคุ้มครองให้มีแต่ความสงบสุขร่มเย็น การมอบดอกพุทธรักษาให้กับพ่อจึงเสมือนหนึ่งการบอกรักและเคารพบูชาพ่อ ซึ่งเป็นผู้สร้างความสงบสุขร่มเย็นให้แก่ครอบครัว (และดอกพุทธรักษายังเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดชุมพรอีกด้วยครับ)
15.นอกจากนี้ในด้านของความเชื่อ คนไทยโบราณเชื่อว่าหากบ้านใดปลูกต้นพุทธรักษาไว้เป็นไม้ประจำบ้าน จะช่วยปกป้องคุ้มครองไม่ให้มีเหตุร้ายหรืออันตรายใด ๆ เกิดแก่บ้านและผู้อยู่อาศัย เพราะพุทธรักษาเป็นพรรณไม้มงคลที่เชื่อกันว่ามีพระเจ้าคุ้มครองรักษาให้มีแต่ความสงบสุข คือเป็นไม้มงคลนามนั่นเอง และการปลูกไม้มงคลชนิดนี้เพื่อเอาคุณควรปลูกไว้ทางทิศตะวันตกของบ้าน และควรปลูกในวันพุธ


 
 
 ลิ้นงูเห่า

ลิ้นงูเห่า ชื่อสามัญ Hop Headed Barleria, Hophead, Porcupine flower, Philippine violet[

ลิ้นงูเห่า ชื่อวิทยาศาสตร์ Barleria lupulina Lindl.

สมุนไพรลิ้นงูเห่า มีชื่อเรียกอื่นว่า ลิ้นงูเห่า พิมเสนต้น (ภาคกลาง), ก้านชั่ง (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), คันชั่ง (ตาก), ชองระอา ช้องละอา ทองระอา ลิ้นงูเห่า (กรุงเทพฯ), อังกาบ อังกาบเมือง (ไทย), ด่อมะอ้าย (ปะหล่อง), ฉิกแชเกี่ยม ฮวยเฮียะแกโต่วเกียง (จีน), ฮวาเย่เจี่ยตู้เจียน ชีซิงเจี้ยน ชื่อเสี่ยฮวา (จีนกลาง) เป็นต้น


ลักษณะของลิ้นงูเห่า

     ต้นลิ้นงูเห่า จัดเป็นพรรณไม้พุ่ม แตกกิ่งก้านสาขามาก มีความสูงได้ประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นเป็นสีน้ำตาลอมเขียว ส่วนกิ่งและก้านเป็นสีน้ำตาลแดง ตามข้อของลำต้นและโคนก้านใบมีหนามแหลมคมและยาวสีน้ำตาลข้อละ 2 คู่ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่เจริญเติบโตได้ดีในดินที่ร่วนซุยและมีความชุ่มชื้น ในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วไป

     ใบลิ้นงูเห่า ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ลักษณะของใบเป็นรูปรียาว ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร ผิวใบเกลี้ยง พื้นใบเป็นสีเขียวเข้มและเป็นมัน เส้นใบและก้านเป็นสีแดง ก้านใบสั้น ยาวได้ประมาณ 5 มิลลิเมตร และโคนก้านมีหนามแหลม 1 คู่ โค้งงอ ยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร สีม่วงชี้ลง

     ดอกลิ้นงูเห่า ออกดอกเป็นช่อตั้ง โดยจะออกที่ปลายยอด ช่อดอกยาวได้ประมาณ 3-9 เซนติเมตร ช่อดอกอ่อนจะมองเห็นใบประดับรูปกลมรีขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร หุ้มดอกไว้ภายใน ดอกจะมีใบประดับขนาดใหญ่เรียงกันเป็นรูปทรงกระบอกสีเขียว ใบประดับที่โคนเป็นสีเขียว ปลายใบประดับเป็นสีม่วง หรือทั้งใบประดับเป็นสีแดงอมเขียวหรือสีม่วงอมน้ำตาล รูปไข่เกือบกลม ปลายเป็นติ่งแหลม ส่วนกลีบเลี้ยงดอกจะมี 4 กลีบ เรียงตรงข้ามเป็นคู่ ยาวประมาณ 0.8-1 เซนติเมตร คู่นอกจะมีขนาดใหญ่กว่าคู่ใน ปลายเป็นติ่งหนาม เมื่อดอกโตเต็มที่ ดอกจะโผล่เลยกลีบประดับออกมา โดยกลีบดอกจะเป็นสีเหลืองหรือสีส้ม กลีบดอกคล้ายรูปปากเปิด มี 5 กลีบ ที่โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ปลายแยกเป็น 2 ปาก แบ่งเป็นปากบนมีกลีบมนขนาดใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่จะมี 4 กลีบ เรียงซ้อนแผ่ชิดกัน บานแผ่ออก ยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร และกลีบล่างอีก 1 กลีบ ที่มีขนาดเล็กกว่าและพับงอเล็กน้อย กลีบดอกจะหลุดร่วงได้ง่าย ดอกมีเกสรเพศผู้ 2 อัน ยาวได้ประมาณ 2 เซนติเมตร ยื่นพ้นจากปากหลอดกลีบดอก มีเกสรเพศผู้ที่เป็นมัน 2 อัน สั้น ๆ รังไข่มี 2 ช่อง ส่วนก้านเกสรเพศเมียยาว โดยจะยาวได้ประมาณ 3 เซนติเมตร

     ผลลิ้นงูเห่า 
ผลมีลักษณะเป็นฝักรูปมนรี รูปไข่หรือแกมรูปขอบขนาน ลักษณะแบนและยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร เมื่อแห้งแล้วจะแตกออกเป็น 2 ซีก ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 2-4 เมล็ด (ซีกละ 1-2 เมล็ด)

สรรพคุณของลิ้นงูเห่า
     ใบลิ้นงูเห่า มีรสจืดเย็น ใช้เป็นยาทะลวงลมปราณ แก้โรคเบาหวาน รักษาโรคคางทูม ช่วยถอนพิษไข้ พิษไข้ทรพิษ แก้ปวดฟัน เหงือกบวม แก้ริดสีดวงทวาร ชาวปะหล่องจะใช้ใบนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาช่วยลดอาการจากไข้มาลาเรีย (มีรสขมมาก) ตำรายาไทยจะใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาทำให้เลือดไหลเวียนได้ดี  แต่จะนิยมใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียดผสมกับเหล้าแล้วคั้นเอาน้ำดื่ม ส่วนกากเอามาพอกหรือทาเป็นยาแก้ลมพิษ รักษาเม็ดผื่นคันตามผิวหนัง แก้ไฟลามทุ่ง แก้ขยุ้มตีนหมา แก้โรคเริม แก้เริมบริเวณผิวหนัง งูสวัด ช่วยถอนพิษจากเม็ดตุ่มฝีดาษ รักษาโรคฝีดาษ แก้ฝีที่ฝ่ามือ แก้แผลกลาย เป็นยาถอนพิษ แก้พิษงูกัด พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย เช่น แมงป่อง ตะขาบ ผึ้ง ช่วยถอนพิษอักเสบจากแมลงสัตว์กัดต่อย  (ใช้ใบสดครั้งละ 1 กำมือ นำมาตำให้ละเอียด หรือจะแทรกด้วยพิมเสนเพียงเล็กน้อยด้วยก็ได้ แล้วนำมาทาหรือนำมาผสมกับเหล้าแล้วพอกบ่อย ๆ บริเวณที่เป็น) หรือใช้เป็นยาแก้ฟกช้ำ เคล็ดขัดยอก ช่วยรักษาแผลฟกช้ำจากการกระทบกระแทก แผลสุนัขกัด แผลจากของมีคมบาด หรือแผลมีเลือดออก (ช่วยห้ามเลือด) ช่วยแก้ปวดแผล แก้อาการปวดจากปลาดุกแทง รวมไปถึงแก้พิษจากไฟลวก น้ำร้อนลวก แก้ยุงกัด แก้ฝีหนอง และแก้โรคฝีต่าง ๆ เพียงใช้ใบสดประมาณ 2-10 ใบ นำมาขยี้หรือตำให้แหลกใช้เป็นยาพอกหรือผสมกับเหล้าตำพอกบริเวณที่เป็น ส่วนชาวโอรังอัสลีในรัฐเประที่ประเทศมาเลเซียจะใช้ใบสดเป็นยากำจัดหูด

     รากลิ้นงูเห่า มีรสจืด ใช้เป็นยาแก้ตาเหลือง หน้าเหลือง เมื่อยตัว กินข้าวไม่ได้ แก้อาการเจ็บท้อง แก้ผิดอาหาร แก้ปวดฟัน ใช้ฝนกับเหล้าดื่มและทาแก้พิษงู ถอนพิษตะขาบ แมงป่อง แมลงสัตว์กัดต่อย ในมาเลเซียจะใช้สมุนไพรลิ้นงูเห่าเป็นยาแก้ปวดฟันและแก้งูกัด ส่วนในประเทศไทยจะใช้เป็นยาแก้พิษจากงูเห่ากัด โดยใช้ตำพอกปากแผลส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งใช้ผสมกับเหล้ากิน เพื่อเป็นการช่วยยืดเวลาก่อนที่จะไปหาหมอ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)

     ขนาดและวิธีใช้ : ใบสดให้ใช้ครั้งละ 10-20 กรัม นำมาตำคั้นเอาน้ำรับประทาน หรือใช้ตำพอกแผลภายนอกตามต้องการ ส่วนใบแห้งให้ใช้ครั้งละ 6-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน ส่วนการใช้ตาม หากใช้รักษาแมลงสัตว์กัดต่อยเป็นผื่นคันให้ใช้ใบสด 5-10 ใบ นำมาตำขยี้ทาบริเวณที่เป็นแผลที่แพ้ จะช่วยให้ยุบหายได้ผลดี ถ้าใช้รักษาแผลโดนน้ำร้อนลวกหรือไฟไหม้ ให้ใช้ใบสดนำมาตำเคี่ยวกับน้ำมะพร้าวหรือน้ำมันงา เอากากพอกบริเวณที่เป็น แผลจะแห้งไว หรือจะนำใบมาตำผสมกับเหล้า ใช้พอกบริเวณที่เป็นจะมีสรรพคุณช่วยดับพิษร้อนได้ดี และสำหรับการใช้รักษาอาการอักเสบ ถอนพิษ แก้เริม งูสวัด ให้ใช้ใบสด (ไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไป) ประมาณ 10-20 ใบ นำมาตำผสมกับเหล้าหรือน้ำมะนาว คั้นเอาน้ำดื่มหรือเอาน้ำทาแผลและเอากากพอกบริเวณแผล
ข้อห้ามใช้ : สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของลิ้นงูเห่า
1. ในใบลิ้นงูเห่าพบสารหลายชนิด เช่น Acetylbarlerin, Barlerin, Bataine, Scutellarein-7-Rhamnosyl glucoside, Shanzhiside methyl ester เป็นต้น[4] ใบและก้านมีสารประกอบพวก iridoid glycosides
2. จากการทดลองในสัตว์พบว่า ใบลิ้นงูเห่ามีฤทธิ์ลดอาการอักเสบ
3. สารสกัดจากต้นลิ้นงูเห่าจะมีสารจำพวก iridoid ที่ช่วยบรรเทาอาการอักเสบและมีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อไวรัสได้ด้วย เช่น โรคงูสวัด จึงสามารถนำมาใช้เป็นยารักษาการอักเสบของโรคเริมหรือแมลงสัตว์กัดต่อยได้
4. สารสกัดด้วยเมทานอลจากส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นลิ้นงูเห่า เมื่อนำมาใช้กับหนูแรทที่ถูกทำให้เป็นเบาหวาน พบว่ามีฤทธิ์ลดน้ำตาลได้ปานกลาง
5. สารสกัดเมทานอลจากส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นลิ้นงูเห่ามีฤทธิ์ลดการอักเสบแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรังในหนูแรท โดยไม่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร
6. สารสกัดด้วยคลอโรฟอร์มจากส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นลิ้นงูเห่ามีฤทธิ์ช่วยลดอาการปวดในหนูเม้าส์ที่ทำให้เกิดอาการปวดด้วย acetic acid (formalin) แต่ใช้ไม่ได้ผลกับอาการปวดจากความร้อน
7. จากการทดสอบความเป็นพิษ เมื่อให้หนูเม้าส์ได้รับสารสกัดด้วยเมทานอลจากส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นลิ้นงูเห่า โดยการป้อนหรือฉีดเข้าทางช่องท้อง พบว่ามีความเป็นพิษปานกลาง

ประโยชน์ของลิ้นงูเห่า
1. นิยมปลูกต้นลิ้นงูเห่าเป็นแนวรั้วเอาไว้ป้องกันงู



พญายอ


พญายอ ชื่อสามัญ Snake Plant

พญายอ ชื่อวิทยาศาสตร์ Clinacanthus nutans (Burm.f.) Lindau

สมุนไพรพญายอ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ลิ้นมังกร ผักมันไก่ ผักลิ้นเขียด (เชียงใหม่), พญาปล้องคำ (ลำปาง), พญายอ (พิษณุโลก), พญาปล้องดำ พญาปล้องทอง (ภาคกลาง), ลิ้นงูเห่า พญายอ (ทั่วไป), โพะโซ่จาง (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ชิงเจี้ยน หนิ่วซิ้วฮวา (จีนกลาง) เป็นต้น

 

 

ลักษณะของพญายอ

ต้นพญายอ จัดเป็นพรรณไม้พุ่มแกมเถา มักเลื้อยพาดไปตามต้นไม้อื่น ๆ มีความสูงได้ประมาณ 1-3 เมตร ลำต้นมีลักษณะเกลี้ยง ต้นอ่อนเป็นสีเขียว ลำต้นมีลักษณะกลม ผิวเรียบเป็นปล้องสีเขียว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำหรือแยกเหง้าแขนงไปปลูก เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิด ชอบดินร่วน ระบายน้ำดี มีแสงแดดจัด มีเขตการกระจายพันธุ์ในจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ในประเทศไทยมักพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณทั่วทุกภาคของประเทศ หรือพบปลูกกันตามบ้านทั่วไป

ใบพญายอ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอก รูปรีแคบขอบขนาน ปลายใบและโคนใบแหลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-9 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม ผิวใบเรียบ

ดอกพญายอ ออกดอกเป็นช่อกระจุกที่ปลายกิ่ง แต่ละช่อมีดอกประมาณ 3-6 ดอก กลีบดอกเป็นสีแดงส้ม โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร ปลายแยกออกเป็น 2 ปาก คือ ปากล่างและปากบน ดอกหนึ่งมี 5 กลีบ กลีบดอกเป็นรูปทรงกระบอก ส่วนกลีบรองกลีบดอกนั้นเป็นสีเขียว ยาวเท่า ๆ กัน มีขนเป็นต่อมเหนียว ๆ อยู่โดยรอบ ดอกมีเกสรเพศผู้ 2 อัน ส่วนเกสรเพศเมียเกลี้ยงไม่มีขน ออกดอกในช่วงประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคม (แต่มักจะไม่ค่อยออกดอก)

ผลพญายอ ผลเป็นผลแห้งและแตกได้ (แต่ผลไม่เคยติดเป็นฝักในประเทศไทย) ลักษณะของผลเป็นรูปกลมยาวรี ยาวได้ประมาณ 0.5 เซนติเมตร ก้านสั้น ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 4 เมล็ด

สรรพคุณของพญายอ
1. รากและเปลือกต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง
2. ทั้งต้นและใบใช้กินเป็นยาถอนพิษไข้ ดับพิษร้อน ใช้เป็นยาลดไข้ ด้วยการใช้ใบสด 1 กำมือ ตำให้ละเอียด ผสมกับน้ำซาวข้าว ใช้พอกบนศีรษะคนไข้ประมาณ 30 นาที อาการไข้และอาการปวดศีรษะจะหายไป
3. ช่วยแก้อาการผิดสำแดง (กินอาหารแสลงไข้ แล้วทำให้โรคกำเริบ) ด้วยการใช้รากสดนำมาต้มกินครั้งละประมาณ 2 ช้อนแกง
4. ใช้เป็นยาแก้เจ็บคอ ด้วยการนำใบสดมาเคี้ยวประมาณ 10 ใบ กลืนเอาแต่น้ำยาพอให้ยาจืด แล้วจึงคายกากทิ้ง
5. ช่วยแก้คางทูม ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 10-15 ใบ ตำให้ละเอียดผสมกับเหล้าโรง คั้นเอาน้ำมาทาบริเวณที่บวม อาการบวมจะหายไป และอาการเจ็บปวดจะหายไปภายใน 30 นาที
6. ใช้เป็นยารักษาโรคบิด
7. รากใช้ปรุงเป็นยาขับปัสสาวะ ขับประจำเดือน
8. ใช้เป็นยาแก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ
9. ช่วยแก้อักเสบแบบดีซ่าน
10. ใช้เป็นยาแก้แผลอักเสบมีไข้ ไข่ดันบวม ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 3-4 ใบ นำมาตำกับข้าวสาร 3-4 เม็ด ผสมกับน้ำพอเปียก ใช้พอกประมาณ 2-3 รอบ จะช่วยให้อาการดีขึ้น
11. ลำต้นนำมาฝนแล้วใช้ทาแผลสดจะช่วยทำให้แผลหายเร็ว
12. ใช้รักษาแผลจากสุนัขกัดมีเลือดไหล ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 5 ใบ นำมาตำพอกบริเวณแผลสัก 10 นาที
13. ใช้รักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ด้วยการใช้ใบสดนำมาตำเคี่ยวกับน้ำมะพร้าวหรือน้ำมันงา เอากากพอกแผล แผลจะแห้ง หรือจะใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียดผสมกับเหล้า ใช้เป็นยาพอกบริเวณที่ถูกไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก จะมีสรรพคุณช่วยดับพิษร้อนได้ดี[4] ส่วนอีกตำราระบุว่า นอกจากจะใช้รักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกได้แล้ว ยังช่วยรักษาแผลเปื่อยเนื่องจากถูกแมงกะพรุนไฟ แผลสุนัขกัด และแผลที่เกิดจากการถูกกรดได้อีกด้วย เพียงแค่นำใบไปหุงกับน้ำมันแล้วนำมาทาบริเวณที่เป็น
14. ใช้รักษาแผลน้ำเหลืองเสีย ด้วยการใช้ใบประมาณ 3-4 ใบ กับข้าวสาร 5-6 เม็ด เติมน้ำลงไปให้พอเปียก แล้วนำมาพอก จะรู้สึกเย็น ๆ ซึ่งยาจะช่วยดูดน้ำเหลืองได้ดี ทำให้แผลแห้งไว โดยให้เปลี่ยนยาวันละ 2 ครั้ง พอกไปสักพักหนึ่งแล้วให้เอาน้ำมาหยอดกันยาแห้งด้วย
15. ใช้แก้โรคผิวหนังผื่นคัน ด้วยการใช้ใบสดตำผสมกับเหล้าใช้ทา หรือใช้เหล้าสกัดใบลิ้นงูเห่า จะได้น้ำยาสีเขียวนำมาทาแก้ผื่นคัน
16. ใช้แก้สิวเม็ดผดผื่นคัน ด้วยการนำใบมาดองกับเหล้า แล้วผสมดินสอพองใช้ทาแก้สิวและเม็ดผดผื่นคัน
17. ใช้แก้ฝี ด้วยการใช้ใบนำมาโขลกผสมกับเกลือและเหล้า ใช้พอกบริเวณที่เป็น เปลี่ยนยาทุกเช้าและเย็น
18. ทั้งต้นและใบใช้เป็นยาขับพิษ ถอนพิษ โดยเฉพาะพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง มด ยุง ฯลฯ รวมถึงผื่นคัน ไฟลามทุ่ง ลมพิษ แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 5-10 ใบ นำมาขยี้หรือตำใช้ทาบริเวณที่เป็น หรือใช้ใบสดนำมาตำให้พอแหลก แช่ในเหล้าขาวประมาณ 1 สัปดาห์ แล้วจึงนำมาใช้ทาบริเวณที่เป็นแผลส่วนอีกตำรับยาแก้ลมพิษ ตามข้อมูลระบุว่า ให้ใช้ใบตำผสมกับดินสอพอง ใส่น้ำเล็กน้อย ใช้ทาบริเวณที่เป็น
19. คนเมืองจะนำใบมาตากแห้งแล้วตำผสมกับแมงป่องปิ้ง ใช้เป็นยาแก้พิษงู
20. ใช้รักษาอาการอักเสบ รักษาแผลร้อนในปาก แก้เริม (แผลผิวหนังชนิดเริม) อีสุกอีใส แก้งูสวัด ขยุ้มตีนหมา และใช้เป็นยาถอนพิษต่าง ๆ ด้วยการใช้ใบพญายอสดประมาณ 10-20 ใบ (เลือกเอาเฉพาะใบสดสีเขียวเข้มเป็นมัน ไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไป) แล้วนำมาตำผสมกับเหล้าหรือน้ำมะนาว คั้นเอาน้ำมาดื่มหรือเอาน้ำมาทาแผลและเอากากพอกบริเวณแผล หรืออีกวิธีให้เตรียมเป็นทิงเจอร์เพื่อใช้ทารักษาอาการอักเสบจากเริมในปาก โดยใช้ใบสด 1 กิโลกรัม นำมาปั่นให้ละเอียด เติมแอลกอฮอล์ 70% ลงไป 1 ลิตร แล้วหมักทิ้งไว้ 7 วัน ระเหยบนเครื่องอังไอน้ำให้ปริมาตรลดลงครึ่งหนึ่ง (ห้ามตั้งบนเตาไฟโดยเด็ดขาด) และเติมกลีเซอรีน (Glycerine pure) อีกเท่าตัว (ครึ่งลิตร) แล้วนำน้ำยาลิ้นงูเห่ากลีเซอรีนที่ได้มาใช้ทาแผลเริม งูสวัด แผลร้อนในปาก และใช้ถอนพิษต่าง ๆ สำหรับตำรายาแก้งูสวัดอีกตำรับจะใช้ใบสดผสมกับดอกลำโพง โกฐน้ำเต้า อย่างละเท่ากัน รวมกันตำให้พอแหลก แช่กับเหล้า แล้วนำมาใช้ทาแก้แผลงูสวัด
21. ใช้แก้ถูกหนามพุงดอตำหรือถูกใบตะลังตังช้าง ด้วยการนำขี้ผึ้งแท้มาลนไฟให้ร้อน แล้วนำมาคลึงเพื่อดูดเอาขนของใบตะลังตังช้างออกเสียก่อน แล้วจึงใช้ใบลิ้นงูเห่าผสมกับเหล้าทาบริเวณที่เป็น
22. ใช้เป็นยาแก้แพ้เกสรรักษาป่า ยางรักป่า และยางสาวน้อยประแป้ง ด้วยการใช้ใบผสมกับเหล้า นำมาทาบริเวณที่คัน
23. ใช้แก้หัด เหือด ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 7 กำมือ นำมาต้มกับน้ำ 8 แก้ว ต้มให้เดือด 30 นาที เทยาออกและผึ่งให้เย็น แล้วนำใบสดมาอีก 7 กำมือ ตำผสมกับน้ำ 8 แก้ว แล้วเอาน้ำยาทั้งสองมาผสมกัน ใช้ทั้งกินและชโลมทา (ยาชโลมให้ใส่พิมเสนลงไปเล็กน้อย) เด็กที่เป็นหัด เหือด ให้กินวันละ 3 ครั้ง ครั้งละครึ่งแก้ว
24. ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้ปวดบวม เคล็ดขัดยอก ฟกช้ำ กระดูกร้าว ช่วยขับความชื้นในร่างกาย แก้อาการปวดเมื่อยเนื่องจากเย็นชื้น
25. รากใช้เป็นยาแก้อาการปวดเมื่อยบั้นเอว

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของพญายอ
1. ใบพบสาร Flavonoids ซึ่งมีฤทธิ์ลดการอักเสบ และสารกลุ่ม glycoglycerolipids ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งไวรัสเริม
2. จากการทดลองในสัตว์ใช้สกัดจากใบสดของพญายอ พบว่า สามารถลดการอักเสบได้โดยพบว่าจะช่วยลดการอักเสบของข้อเท้าหนูที่ทำให้บวมด้วยสาร carrageenan ได้ เมื่อใช้ตำรับยาที่มีพญายอร้อยละ 5 ใน Cold cream และสารสกัดด้วยเอทานอลจากใบ นำมาทาเฉพาะที่ให้หนูแรท จะช่วยลดการอักเสบเรื้อรังได้ แต่เมื่อใช้สารสกัดด้วย มาทาที่ผิวหนังจะไม่ได้ผล
3. สารสกัดจากใบความเข้ม 15 กรัม ต่อ 1 กิโลกรัม มีประสิทธิภาพต้านการอักเสบได้ดี
4. เมื่อให้หนูเม้าส์กินสารสกัดด้วย n-butanol จากใบ พบว่า จะช่วยลดความเจ็บปวดของหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้ปวดด้วยกรดอะซีติคได้ โดยสารสกัดความแรง 90 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม จะมีฤทธิ์ใกล้เคียงกับเฟนนิวบิวทาโซนขนาด 100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ส่วนสารสกัดด้วยน้ำและสารสกัดด้วยเอทานอล 60 จากใบ พบว่าไม่มีผลลดความเจ็บปวด
5. สารสกัดด้วยเฮกเซน บิวทานอล และเอทิลอะซิเตทจากใบพญายอมีฤทธิ์ต้านไวรัสเชื้อเริม HSV-1 เมื่อนำไปทำเป็นตำรับเจลโดยใช้สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ที่ความเข้มข้นร้อยละ 4 และใช้ carbopol 940 เป็นสารก่อเจล พบว่าจะมีฤทธิ์ต้านไวรัสได้ดีและไม่เป็นพิษต่อเซลล์ ในขณะที่เมื่อใช้สารก่อเจล poloxamer 407 จะมีพิษต่อเซลล์ และจากรายงานการรักษาผู้ป่วยโรคเริมที่อวัยวะสืบพันธุ์ชนิดเป็นซ้ำด้วยการใช้ยาจากสารสกัดพญายอ เปรียบเทียบกับยา acyclovir และยาหลอก โดยให้ผู้ป่วยทายาวันละ 4 ครั้ง เป็นเวลา 6 วัน พบว่าไม่มีความแตกต่างในระยะเวลาการตกสะเก็ดของแผลผู้ป่วยที่ใช้ยาจากสารสกัดใบและยา acyclovir โดยแผลจะตกสะเก็ดภายใน 3 วัน และหายสนิทภายใน 7 วัน ซึ่งแตกต่างกับยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ โดยยาที่สกัดจากใบพญายอจะไม่ทำให้เกิดการอักเสบและระคายเคือง ในขณะที่ acyclovir จะทำให้แสบ นอกจากนี้ยังมีการใช้ยาที่ทำจากพญายอในผู้ป่วยโรคเริม งูสวัด และแผลอักเสบในปาก แล้วพบว่าสามารถรักษาแผลและลดการอักเสบได้ดี
6. สารที่สกัดจากบิวทานอล (Butanol) ของใบพญายอ มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัส Varicella zoster ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสชนิดที่ทำให้เกิดเริมและอีสุกอีใส[3] จากรายงานการรักษาผู้ป่วยโรคงูสวัดด้วยยาจากสารสกัดจากใบเปรียบเทียบกับยาหลอก โดยให้ทายาวันละ 5 ครั้ง เป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ จนกว่าแผลจะหาย พบว่าผู้ป่วยที่รักษาด้วยสารสกัดจากใบพญายอ แล้วมีแผลตกสะเก็ดภายใน 3 วัน และหายภายใน 7-10 วัน จะมีจำนวนมากกว่ากลุ่มที่รักษาด้วยยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และระดับความเจ็บปวดจะลดลงเร็วกว่ากลุ่มที่ใช้ยาหลอก โดยไม่พบผลข้างเคียงใด ๆ
7. จากการทดสอบความเป็นพิษ เมื่อป้อนสารสกัด n-butanol จากใบให้หนูเม้าส์ พบว่ามีพิษเล็กน้อย แต่จะมีพิษปานกลางเมื่อฉีดเข้าช่องท้อง ส่วนสารสกัดด้วยเอทานอลขนาด 1.3 กรัมต่อกิโลกรัม (เทียบเท่าใบแห้ง 5.44 กรัมต่อกิโลกรัม) เมื่อนำมาป้อนเข้าทางปากหรือฉีดเข้าช่องท้องหนูเม้าส์ พบว่าไม่ทำให้เกิดอาการเป็นพิษใด ๆ
8. จากการศึกษาพิษกึ่งเรื้อรัง ด้วยการป้อนสารสกัด n-butanol จากใบในขนาด 270 และ 540 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ให้หนูแรททุกวัน นาน 6 สัปดาห์ พบว่าไม่มีผลต่อการเจริญเติบโต แต่พบว่ามีน้ำหนักต่อมธัยมัสลดลง ในขณะที่น้ำหนักของตับเพิ่มขึ้น และไม่พบว่ามีความผิดปกติต่ออวัยวะอื่น ๆ หรืออาการไม่พึงประสงค์แต่อย่างใด หนูแรทที่กินสารสกัดด้วยเอทานอลในขนาด 1 กรัมต่อกิโลกรัม ทุกวันนาน 90 วัน พบว่ากลุ่มที่ได้รับสารสกัดและกลุ่มควบคุมไม่ต่างกัน แต่น้ำหนักของหนูเพศผู้ที่ได้รับสารสกัดจะต่ำกว่ากลุ่มควบคุม เกล็ดเลือดของหนูแรททั้งสองเพศสูงกว่า และครีอาตินินต่ำกว่ากลุ่มควบคุม แต่ไม่พบความผิดปกติด้านด้านจุลพยาธิวิทยาของอวัยวะภายในและพยาธิสภาพภายนอก

ประโยชน์ของพญายอ
1. ยอดอ่อนและใบอ่อนสามารถนำมาใช้บริโภคได้ โดยนำไปปรุงเป็นอาหาร เช่น แกงแค
2. ปัจจุบันองค์การเภสัชกรรมได้มีการผลิตครีมจากสมุนไพรชนิดนี้สำหรับรักษาและบรรเทาโรคเริมและงูสวัดใช้กันแล้วโดยแบบครีมจะมีสารสกัดอยู่ร้อยละ 4-5 แบบโลชั่นจะมีสารสกัดอยู่ร้อยละ 1.25 ส่วนแบบสารละลายสำหรับป้ายปากจะมีสารสกัดพญายอในกลีเซอรีน ร้อยละ 2.5-4


 แทงทวย

แทงทวย ชื่อสามัญ Monkey-faced tree, Red berry

แทงทวย ชื่อวิทยาศาสตร์ Mallotus philippensis (Lam.)

สมุนไพรคแทงทวย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กายขัดหิน ขี้เนื้อ (เชียงใหม่), ขางปอย ซาดป่า (นครพนม), ลายตัวผู้ (จันทบุรี), แทงทวย (ราชบุรี), ทองขาว (เลย), สากกะเบือละว้า (สุโขทัย, พิษณุโลก), ชาตรีขาว (ภูเก็ต), พลากวางใบใหญ่ (ตรัง), ขี้เต่า (สุราษฎร์ธานี), พลับพลาขี้เต่า (นครศรีธรรมราช), มะกายคัด (ภาคเหนือ), คำแดง ทองทวย แทงทวย มะคาย แสด (ภาคกลาง), ไม้เล็ง (ไทใหญ่) เป็นต้น


ลักษณะของแทงทวย


     ต้นแทงทวย จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 5-12 เมตร บ้างว่าสูงได้ประมาณ 15 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลปนเทาและมักมีร่อง ที่กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลปกคลุมและมียางสีแดง ต้นแทงทวยมีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบได้ตั้งแต่แถบหิมาลัย ศรีลังกา พม่า อินเดีย จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ถึงไต้หวัน ออสเตรเลีย และตลอดจนหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนในประเทศสามารถพบได้ทุกภาค โดยจะขึ้นตามชายฝั่งทะเล ตามป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา และจามป่าเบญจพรรณ ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ 1,200 เมตร

     ใบแทงทวย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปรี ปลายใบแหลมหรือเป็นติ่งแหลม โคนใบมนหรือกลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร บ้างว่ายาวได้ประมาณ 4-22 เซนติเมตร หลังใบเรียบเกลี้ยง ส่วนท้องใบมีขนอยู่หนาแน่นและมีต่อมเกล็ดเป็นจำนวนมาก มีเส้นแขนงใบ 3 เส้นใบ ใบอ่อนเป็นสีน้ำตาล และมีก้านใบยาวประมาณ 1.5-5 เซนติเมตร ส่วนหูใบมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาวประมาณ 0.5-1.3 เซนติเมตร

     ดอกแทงทวย ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและตามปลายกิ่ง ดอกเป็นแบบแยกเพศและอยู่บนต้นเดียวกัน โดยช่อดอกเพศผู้จะมีความยาวได้ถึง 18 เซนติเมตร ออกเป็นกลุ่มประมาณ 3-4 ดอก ดอกเป็นสีเขียว มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.2-0.3 เซนติเมตร ดอกไม่มีกลีบดอก แต่มีเฉพาะกลีบเลี้ยงดอก 3-4 กลีบ และดอกมีเกสรเพศผู้ 15-20 อัน ส่วนช่อดอกเพศเมียจะมีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร โดยดอกเพศเมียจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.3 เซนติเมตร เป็นสีเหลืองหรือสีแดง มีกลีบเลี้ยงดอกมีประมาณ 3-6 กลีบ มีรังไข่ 2-3 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียจะยาวได้ประมาณ 0.1 เซนติเมตร ปลายเกสรแยกเป็น 3 แฉก และยาวประมาณ 0.3-0.5 เซนติเมตร และตามช่อดอกทุกส่วนจะมีขนปกคลุมอยู่ตลอด

     ผลแทงทวย ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมแป้น แบ่งออกเป็นพู 3 พู ผลมีขนาดประมาณ 0.7-0.9 เซนติเมตร ผิวของผลมีขนสั้นและต่อมผงเล็ก ๆ สีแดงหรือสีน้ำตาลเข้ม ผลเมื่อแห้งจะแตกออกตามพู ภายในมีเมล็ดสีดำ ลักษณะของเมล็ดแทงทวยเป็นรูปทรงรี มีความยาวประมาณ 0.4 เซนติเมตร

สรรพคุณของแทงทวย
1. เปลือกต้นช่วยบำรุงธาตุ
2. เมล็ดช่วยแก้ไข้
3. ผลและใบนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้หวัด
4. ช่วยแก้พรรดึก
5. ช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะ
6. เปลือกต้นใช้รักษาโรคกระเพาะ
7.  เมล็ดเป็นยาขับพยาธิ ขนจากผลที่เป็นผงสีแดง ใช้เป็นยาขับพยาธิตัวกลม พยาธิตัวแบน และพยาธิตัวตืด สารสกัดจากผลสามารถฆ่าพยาธิตัวตืดได้ทั้งหลอดทดลองและในสัตว์ทดลอง
8. แก่นใช้ต้มกับน้ำดื่ม ช่วยแก้ปัสสาวะแดงหรือเหลือง
9.  ใบและดอกมีรสเฝื่อน ใช้เป็นยาพอกบาดแผล หรือจะนำเมล็ดมาทำเป็นผงก็ใช้พอกแผลได้เช่นกัน
10. ดอกและเปลือกต้นมีรสเฝื่อน ใช้เป็นยารักษาแผลเรื้อรัง
11. ราก ใบ และขนจากผล นำมาตำรวมกับน้ำผึ้ง ใช้เป็นยาทาแก้แผลอักเสบ
12. เปลือกต้นมีรสเฝื่อนใช้รักษาโรคผิวหนัง
13. เมล็ดใช้แก้โรคเรื้อน
14. ราก ใบ และขนจากผล นำมาตำรวมกับน้ำผึ้ง ใช้เป็นยาทาแก้สัตว์มีพิษกัดต่อย
15. ตำรับยาพื้นบ้านใช้แก่นนำมาต้มกับน้ำดื่มช่วยแก้โรคเส้น

ประโยชน์ของแทงทวย
1.เมล็ดใช้เป็นยาเบื่อปลา
2.ราก ใบ และขนจากผล นำมาตำรวมกับน้ำผึ้ง ใช้เป็นยาทาแก้สิวและลอกฝ้า
3.ผลใช้ทำเป็นสีย้อมผ้าได้ โดยจะให้สีแดง
4.เนื้อไม้แทงทวยใช้ทำเป็นฟืนได้


 เหงือกปลาหมอ


เหงือกปลาหมอ ชื่อสามัญ Sea holly, Thistleplike plant

เหงือกปลาหมอ ชื่อวิทยาศาสตร์ Acanthus ebracteatus Vahl

สมุนไพรเหงือกปลาหมอ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า แก้มหมอ (สตูล), แก้มหมอเล (กระบี่), อีเกร็ง (ภาคกลาง), นางเกร็ง จะเกร็ง เหงือกปลาหมอน้ำเงิน เป็นต้น

เหงือกปลาหมอมีอยู่ด้วยกัน 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ที่เป็นดอกสีม่วง (Acanthus ilicifolius L.) ที่พบได้มากทางภาคใต้ และพันธุ์ที่เป็นดอกสีขาว (Acanthus ebracteatus Vahl) ที่พบได้มากทางภาคกลางและภาคตะวันออก และเป็นพรรณไม้ที่ขึ้นชื่อของจังหวัดสมุทรปราการ

เหงือกปลาหมอ สมุนไพรใกล้ตัวหรืออาจจะเรียกว่าเป็นสมุนไพรชายน้ำหรือชายเลนก็ได้ สามารถนำสรรพคุณทางยามาใช้ในการรักษาโรคได้หลายชนิด ที่โดดเด่นมากก็คือการนำมารักษาโรคผิวหนังได้เกือบทุกชนิด แก้น้ำเหลืองเสีย และการนำมาใช้รักษาริดสีดวงทวาร เป็นต้น โดยส่วนที่นำมาใช้เป็นยาสมุนไพรก็ได้แก่ ส่วนลำต้นทั้งสดและแห้ง ใบทั้งสดและแห้ง ราก เมล็ด และทั้งต้น (ส่วนทั้ง 5 ประกอบไปด้วย ต้น ราก ใบ ผล เมล็ด)


ลักษณะของเหงือกปลาหมอ


ต้นเหงือกปลาหมอ เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง มีความสูงประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นแข็ง มีหนามอยู่ตามข้อของลำต้น ข้อละ 4 หนาม ลำต้นกลม กลวง ตั้งตรง มีสีขาวอมเขียว ลำต้นมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 เซนติเมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการใช้กิ่งปักชำ เป็นพรรณไม้ที่มักขึ้นกลางแจ้ง เจริญเติบโตได้ดีในที่ร่มและในที่ที่มีความชื้นสูง ชอบขึ้นตามชายน้ำหรือบริเวณริมฝั่งคลองบริเวณปากแม่น้ำ เช่น บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกเหนือปากคลองมหาวงก์ และที่โรงเรียนนายเรือ เป็นต้น

ใบเหงือกปลาหมอ ใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบมีหนามคมอยู่ริมขอบใบและปลายใบ ขอบใบเว้าเป็นระยะ ๆ ผิวใบเรียบเป็นมันลื่น แผ่นใบสีเขียว เส้นใบสีขาว มีเหลือบสีขาวเป็นแนวก้างปลา เนื้อใบแข็งและเหนียว ใบกว้างประมาณ 4-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ใบจะออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน ก้านใบสั้น

ดอกเหงือกปลาหมอ ออกดอกเป็นช่อตั้งตามปลายยอด ยาวประมาณ 4-6 นิ้ว ดอกมีทั้งพันธุ์ดอกสีม่วง (หรือสีฟ้า) และพันธุ์ดอกสีขาว ที่ดอกมีกลีบรองดอกมี 4 กลีบ กลีบแยกจากกัน บริเวณกลางดอกจะมีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่

ผลเหงือกปลาหมอ ลักษณะของผลเป็นฝักสีน้ำตาล ลักษณะของฝักเป็นทรงกระบอก รูปไข่ หรือกลมรี ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร เปลือกฝักมีสีน้ำตาล ปลายฝักป้าน ข้างในฝักมีเมล็ด 4 เมล็ด

สรรพคุณของเหงือกปลาหมอ
1. ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ ทำให้อายุยืน ร่างกายแข็งแรง เลือดลมไหลเวียนดี เส้นเลือดไม่อุดตัน บำรุงผิวพรรณ ด้วยการใช้ทั้งต้นเหงือกปลาหมอนำมาตำผสมกับพริกไทยในอัตราส่วน 2:1 แล้วคลุกเคล้าผสมกับน้ำผึ้ง ปั้นเป็นยาลูกกลอน ว่ากันว่าหากรับประทานติดต่อกัน 1 เดือน จะทำให้ปัญญาดี ไม่มีโรค / 2 เดือน ผิวหนังเต่งตึง / 3 เดือน ทำให้ริดสีดวงหาย / 4 เดือน ช่วยแก้ลม 12 จำพวก หูไว / 5 เดือน หมดโรค / 6 เดือน ทำให้เดินไม่รู้จักเหนื่อย / 7 เดือนผิวสวย / 8 เดือน เสียงเพราะ / 9 เดือน หนังเหนียว (ทั้งต้น, ราก)
2. เหงือกปลาหมอมีสรรพคุณช่วยบำรุงประสาท 
3. ช่วยรักษาอาการธาตุไม่ปกติ 
4. ช่วยทำให้เลือดลมเป็นปกติ
5. ช่วยทำให้เจริญอาหาร
6. ช่วยแก้โรคกระษัย อาการซูบผอมเหลืองทั้งตัว ด้วยการใช้ทั้งต้นของเหงือกปลาหมอนำมาตำเป็นผงกินทุกวัน
7. ช่วยแก้อาการร้อนทั้งตัว เจ็บระบบทั้งตัว ตัวแห้ง เวียนศีรษะ หน้ามืดตามัว มือตายตีนตาย ด้วยการใช้ทั้งต้นของเหงือกปลาหมอและเปลือกมะรุมอย่างละเท่ากัน ใส่หม้อต้มผสมกับเกลือเล็กน้อย หมาก 3 คำ เบี้ย 3 ตัว วางบนปากหม้อ แล้วใช้ฟืน 30 ดุ้น ต้มกับน้ำเดือดจนงวดแล้วยกลง เมื่อเสร็จให้กลั้นใจกินขณะอุ่น ๆ จนหมด อาการก็จะดีขึ้น (ทั้งต้น)
8. ช่วยยับยั้งมะเร็ง ต้านมะเร็ง
9. ช่วยรักษาอาการปอดอักเสบ ด้วยการใช้เหงือกปลาหมอทั้งต้นและข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ในสัดส่วนที่เท่ากัน นำมาต้มกับน้ำจนเดือดแล้วนำมาดื่มในขณะอุ่น ๆ ครั้งละ 1 แก้ว เช้า กลางวัน เย็น อาการจะดีขึ้น
10. รักษาปอดบวม ข้อมูลนี้ยังไม่น่าเชื่อถือ
11. ต้นมีรสเค็มกร่อย สรรพคุณช่วยแก้อาการปวดศีรษะ
12. รากช่วยแก้และบรรเทาอาการไอ หรือจะใช้เมล็ดนำมาต้มดื่มแก้อาการไอก็ได้เช่นกัน
13. ช่วยแก้หืดหอบ
14. ช่วยรักษาวัณโรค ด้วยการใช้ต้นนำมาตำผสมเป็นน้ำดื่ม
15. ช่วยแก้อาการเจ็บตา ตาแดง ด้วยการใช้เหงือกปลาหมอทั้งต้นนำมาตำผสมกับขิง คั้นเอาแต่น้ำใช้หยอดตาแก้อาการ
16. ใบช่วยแก้ไข้
17. ช่วยแก้ไข้จับสั่น ด้วยการใช้ทั้งต้นเหงือกปลาหมอมาตำผสมกับขิง
18. ช่วยแก้พิษไข้หัว ด้วยการใช้ทั้งต้นรวมทั้งรากนำมาต้มอาบแก้อาการ
19. แก้อาการไอ เมล็ดใช้ผสมกับดอกมะเฟือง เปลือกอบเชย น้ำตาลกรวด นำมาต้มรวมกันแล้วเอาแต่น้ำมากินเป็นยาแก้ไอ
20.  ช่วยขับเสมหะ
21. ถ้าเป็นลม ให้ใช้ต้นเหงือกปลาหมอ 1 ส่วน / พริกไทย 2 ส่วน ผสมรวมกัน ตำให้ละเอียดเป็นผงแล้วนำมาละลายน้ำร้อนดื่ม
22. ช่วยแก้โรคกระเพาะ ด้วยการใช้ทั้งต้นและพริกไทย (10:5 ส่วน) ตำผสมปั้นเป็นยาลูกกลอน
23. ช่วยขับพยาธิ
24. ช่วยรักษาโรคริดสีดวงทวาร ด้วยการใช้ต้นเหงือกปลาหมอกับขมิ้นอ้อย นำมาตำละลายกับน้ำแล้วทาบริเวณที่เป็นริดสีดวง หรือจะใช้ปรุงกับฟ้าทะลายโจร ใช้รมหัวริดสีดวงก็ได้
25. ช่วยรักษามุตกิดระดูขาว ตกขาวของสตรี ด้วยการใช้ใบและต้นนำมาตำเป็นผง ผสมกับน้ำผึ้งหรือน้ำมันมันงา ปั้นเป็นยาลูกกลอนรับประทานแก้อาการ
26. ช่วยแก้ประจำเดือนมาไม่เป็นปกติของสตรี ด้วยการใช้ทั้งต้นนำมาตำผสมกับน้ำผึ้ง น้ำมันงา
27. ช่วยรักษานิ่วในไต ด้วยการใช้ใบนำมาต้มเป็นน้ำดื่ม
28. ต้นเหงือกปลาหมอมีสรรพคุณช่วยรักษาแผลพุพอง
29. ใบมีรสเค็มกร่อย สรรพคุณช่วยรักษาแผลอักเสบ
30. ช่วยแก้น้ำเหลืองเสีย ด้วยการใช้ต้น 3-4 ต้น นำมาหั่นเป็นชิ้น แล้วต้มน้ำอาบแก้อาการ
31. สำหรับผู้ป่วยเอดส์ที่มีแผลพุพองตามผิวหนัง หากใช้ต้นมาต้มอาบและทำเป็นยากินติดต่อกันประมาณ 3 เดือนจะช่วยทำให้อาการของแผลพุพองบรรเทาลงอย่างชัดเจน
32. ช่วยรักษาโรคผิวหนังหรือประดง รักษากลากเกลื้อน อีสุกอีใส
33.  เหงือกปลาหมอมีสรรพคุณทางยาช่วยแก้ลมพิษ
34. รากสดนำมาต้มเอาแต่น้ำ ใช้ดื่มเป็นยารักษาโรคงูสวัดได้
35. ช่วยรักษาฝี ฝีเรื้อรัง แผลฝีหนอง ฝีดาษ ตัดรากฝี แก้พิษฝีทุกชนิดทั้งภายในภายนอก ด้วยการใช้ต้นและใบทั้งสดและแห้งประมาณ 1 กำมือ นำมาบดให้ละเอียด แล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็นฝี หรือวิธีที่สองจะนำมาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่น้ำให้ท่วมแล้วต้มในน้ำเดือดทิ้งไว้ 10 นาที แล้วนำมาดื่มก่อนอาหารครั้งละครึ่งแก้ว วันละ 3 ครั้ง ประมาณ 2-3 อาทิตย์ หรือจะใช้เมล็ดนำมาคั่วให้เกรียมแล้วป่นให้ละเอียด ชงกับน้ำกินเป็นยาแก้ฝีก็ได้

ประโยชน์ของเหงือกปลาหมอ
1.  ในปัจจุบันสมุนไพรเหงือกปลาหมอมีการนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นยาแคปซูลสมุนไพร (เหงือกปลาหมอแคปซูล) หรือเป็นยาชงสมุนไพร (เหงือกปลาหมอผงสำเร็จรูป) หรือในรูปแบบของยาเม็ด
2. นอกจากการใช้เป็นยาสมุนไพรที่ใช้ในการอบตัวหรืออบด้วยไอน้ำ สมุนไพรเหงือกปลาหมอยังใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น สบู่ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการเปลี่ยนสีผม



 ปีกไก่ดำ


ปีกไก่ดำ ชื่อวิทยาศาสตร์ Justicia gendarussa Burm.f.

สมุนไพรปีกไก่ดำ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กระดูกดำ (จันทบุรี), ปองดำ แสนทะแมน (ตราด), เฉียงพร้า (สุราษฎรณ์ธานี), กุลาดำ บัวลาดำ (ภาคเหนือ), เกียงพา เกียงผา เฉียงพร้าบ้าน เฉียงพร้าม่าน เฉียงพร้ามอญ เฉียงพร่าม่าน ผีมอญ สันพร้ามอญ สำมะงาจีน (ภาคกลาง), โอกุด๊ดอื้งติ้น (จีน), ปั๋วกู่ตาน อูกู่หวางเถิง (จีนกลาง) เป็นต้น



 



ลักษณะของปีกไก่ดำ

      ต้นปีกไก่ดำ จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกหรือไม้พุ่มขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 90-100 เซนติเมตร ลำต้นเป็นสีแดงเข้มถึงสีดำหรือเป็นสีม่วง เกลี้ยงมัน ลักษณะของลำต้นและกิ่งเป็นปล้องข้อ ดูคล้ายกับกระดูกไก่ โดยมีขนาดข้อของลำต้นยาวประมาณ 2.5-3 นิ้ว ส่วนข้อของปล้องกิ่งยาวประมาณ 1-1.5 นิ้ว ตามลำต้น กิ่งก้าน และใบมีสีแดงเรื่อ ๆ ต้นกระดูกดำเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำและวิธีการเพาะเมล็ด ขึ้นได้ดีในดินที่ร่วนซุย มักขึ้นเองตามริมลำธารในป่าดงดิบ

     ใบปีกไก่ดำ ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงคู่ ใบมีลักษณะเป็นรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบแหลม ขอบใบเรียบไม่มีหยัก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตรและยาวประมาณ 4-14 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบเงาเป็นสีเขียวเข้ม หน้าใบเป็นสีเขียวสด ส่วนหลังใบเป็นสีเหลืองอมสีเขียว มีเส้นกลางใบเป็นสีแดงอมดำ ส่วนก้านใบสั้น

     ดอกปีกไก่ดำ ออกดอกเป็นช่อบริเวณส่วนยอดของต้นหรือบริเวณปลายกิ่ง ในช่อหนึ่ง ๆ จะมีความยาวประมาณ 2-3 นิ้ว ดอกมีลักษณะเป็นหลอดเล็ก ๆ ปลายดอกแยกออกเป็นกลีบ กลีบดอกเป็นสีขาวอมเขียวแกมสีชมพู โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน ปลายกลีบแยกเป็นกลีบบนและกลีบล่าง กลีบดอกมีลักษณะโค้งงอนเหมือนช้อน ข้างในหลอดดอกมีเกสรเพศผู้ 2 ก้าน โผล่พ้นขึ้นมาจากหลอด

     ผลปีกไก่ดำ ผลมีลักษณะเป็นฝัก มีความยาวประมาณ 1.3-1.5 เซนติเมตร

สรรพคุณของปีกไก่ดำ
1. ที่มาเลเซียและอินโดนีเซียจะนำใบมาต้มกับน้ำกินเป็นยาบำรุงโลหิต
2. ใบสดนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำมาดื่มเป็นยาแก้อาการปวดศีรษะ ส่วนในมาเลเซียและอินโดนีเซียจะนำใบสดมาตำผสมกับหัวหอมและเมล็ดเทียนแดง แล้วนำมาพอกแก้อาการปวดศีรษะ
3. ใบสดนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำมาดื่มเป็นยาแก้โรคหืด
4. ใช้ใบสดนำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือจะใช้ใบนำมาตำผสมกับเหล้าคั้นเอาแต่น้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ ลดความร้อน ช่วยขับเลือดข้นในร่างกายให้กระจาย ช่วยกระจายเลือด แก้เลือดคั่งค้างเป็นลิ่มเป็นก้อน ทำให้เลือดที่อุดตันในร่างกายไหลเวียนสะดวก
5. น้ำคั้นจากใบใช้ผสมกับเหล้ากินเป็นยาแก้อาเจียนเป็นเลือด
6. ใบเมื่อนำมาตำแล้วให้คั้นเอาแต่น้ำมาใช้ผสมกับเหล้ารับประทานเป็นยาแก้ไอ
7. รากเป็นยาแก้ท้องเสีย น้ำคั้นจากใบใช้เป็นยาทาแก้อาการปวดท้อง
8. ใบนำมาต้มกับนมรับประทานเป็นยาแก้ท้องร่วงอย่างแรง
9. น้ำคั้นจากใบใช้ผสมกับเหล้ารับประทานเป็นยาขับปัสสาวะ
10. รากและใบนำมาตำผสมกัน ใช้เป็นยาพอกถอนพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย เช่น พิษงู ผึ้ง ต่อ แตนต่อย เป็นต้น หรือจะใช้กากของใบนำมาพอกแผลบริเวณที่ถูกกัดจะช่วยดูดพิษของอสรพิษได้ หรือจะใช้ใบนำมาขยี้ผสมกับเหล้าขาวเป็นยาทาก็ได้เช่นกัน
11. รากและใบนำมาต้มกับน้ำใช้อาบแก้โรคผิวหนังและผื่นคันตามตัว ใช้รากเป็นยาทาเด็กที่เป็นเม็ดตุ่มขึ้นตามตัว
12. ใบนำมาต้มกับนมรับประทานเป็นยาแก้ฝีฝักบัว
13. น้ำคั้นจากใบใช้ผสมกับเหล้ากินช่วยแก้อาการช้ำใน แก้ปวดบวมตามข้อ หรือจะใช้น้ำคั้นจากใบทาแก้อาการปวดตามข้อก็ได้เช่นกัน
14. ช่วยแก้เคล็ดขัดยอก ด้วยการใช้รากนำมาตำผสมกับเหล้าหรือน้ำส้มสายชู แล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็น
15. สูตรตำรับสเปรย์ปีกไก่ดำ สรรพคุณแก้อาการปวดข้อ ปวดเมื่อย ฟกช้ำ อักเสบเฉียบพลัน (ใช้ฉีดบริเวณที่มีอาการปวดหรือมีการอักเสบของข้อต่าง ๆ) ในส่วนผสมจะประกอบไปด้วย 1.สารสกัดปีกไก่ดำ 400 ซีซี (ระเหยแอลกอฮอล์ออก) 2.เมนทอล 60 กรัม 3.การบูร 120 กรัม 4.น้ำมันหอมระเหย 10 ซีซี (กลิ่นเปปเปอร์มินต์) และ 5.น้ำมันเขียว (Cajuput oil) 2% 8 ซีซี ส่วนวิธีการทำนั้นให้ละลายเมนทอลและการบูรให้เป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นให้เติมสารสกัดปีกไก่ดำและน้ำมันเขียวลงไปคนให้เข้ากัน แต่งกลิ่นด้วยเปปเปอร์มินต์ แล้วนำไปบรรจุลงในขวดสเปรย์
16. ทางตอนใต้ของอินเดียมีการใช้ใบของต้นปีกไก่ดำเพื่อรักษาโรคติดเชื้อหลายชนิด
17. ทั้งต้นมีรสเผ็ด เป็นยาร้อนเล็กน้อย สรรพคุณเป็นยาขับลมชื้นตามข้อกระดูก
18. ใบสดนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำดื่มเป็นยาแก้อัมพาต
19. สมุนไพรปีกไก่ดำ จัดอยู่ในตำรับยารักษาโรคมะเร็งเต้านม โดยเป็นตำรับยาที่ประกอบไปด้วยปีกไก่ดำ ไฟเดือนห้า ข้าวเย็นเหนือ ลิ้นงูเห่า และพุทธรักษา อย่างละเท่ากันนำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ตามข้อมูลไม่ได้ระบุสัดส่วนที่ใช้เอาไว้) ซึ่งตำรับยานี้ยังใช้รักษาอาการฟกช้ำ แก้ไข้ ลดความร้อน และช่วยขับเลือดข้นในร่างกายให้กระจายได้ด้วย

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของปีกไก่ดำ
1. สารที่พบได้แก่ สารอัลคาลอยด์, Juaticin และมีน้ำมันระเหยประกอบอยู่ด้วย
2. รากที่นำมาต้มกับน้ำหรือแช่ในแอลกอฮอล์ หรือใช้สกัดด้วยแอลกอฮอล์ฉีดเข้าในท้องของหนูทดลองในปริมาณ 1-2 กรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม พบว่าจะทำให้หนูมีอุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น แต่ถ้าหากฉีดเข้าหนูทดลองในปริมาณ 10-20 กรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม จะมีผลทำให้อุณหภูมิในร่างกายของหนูทดลองต่ำลงมาก และมีอาการถ่ายอย่างเฉียบพลันและถึงแก่ความตาย


ที่มา : เว็บไซต์เมดไทย

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้