10 โรคมะเร็งที่พบได้บ่อย

1486 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เปรียบเทียบมะเร็งแต่ละชนิด

10โรคมะเร็งที่พบได้บ่อย

     โรคมะเร็ง เป็นโรคร้ายที่คนทั่วโลกต่างหวาดกลัว ตามรายงานแผนการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาติ (พ.ศ. 2561-2564) ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในสถานการณ์โรคมะเร็งโลก ระบุว่า โรคมะเร็งถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนทั่วโลก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โรคมะเร็งจึงถือเป็นปัญหาสาธารณสุขของทุกประเทศ

     จากข้อมูลผู้ป่วยโรคมะเร็งขององค์การอนามัยโลกในปีพ.ศ. 2561 ทั่วโลกพบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่จำนวนกว่า 18.1 ล้านคน สถิติของโรคมะเร็งที่พบ 5 อันดับแรกในโลก ได้แก่ มะเร็งปอด 2.1 ล้านราย มะเร็งเต้านม 2.1 ล้านราย มะเร็งลำไส้ใหญ่ 1.8 ล้านราย มะเร็งต่อมลูกหมาก 1.3 ล้านราย และมะเร็งกระเพาะอาหาร 1.0 ล้านราย โดยในจำนวนนี้ มีผู้เสียชีวิตถึง 9.6 ล้านคน เป็นมะเร็งปอดถึง 1.8 ล้านราย มะเร็งลำไส้ใหญ่ 881,000 ราย มะเร็งกระเพาะอาหาร 783,000 ราย มะเร็งตับ 782,000 ราย และมะเร็งเต้านม 627,000 ราย จากตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่เพียงประเทศไทยเท่านั้นที่ตื่นกลัวกับโรคมะเร็ง แต่ถือเป็นโรคที่คุกคามสุขภาพคนทั้งโลก ซึ่งน่ากลัวไม่น้อยเลยสำหรับคนทั่วโลก

     สำหรับข้อมูลสถิติโรคมะเร็งในประเทศไทย พบว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประชากรไทยมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2542 แล้ว อีกทั้งยังมีแนวโน้มการตายสูงขึ้นในทุกปี หากดูข้อมูลสถิติโรคมะเร็งของคนไทยในปีพ.ศ. 2557 จากสถาบันมะเร็งแห่งชาติแล้ว พบ ผู้ป่วยใหม่จำนวนถึง 122,757 คนในปีนั้น โดยแบ่งเป็นเพศชาย 59,662 คน และเพศหญิง 63,095 คน 5 อันดับโรคมะเร็งที่เป็นปัญหาสำหรับคนไทย 5 อันดับแรกของประเทศไทย มีดังนี้
มะเร็งตับ มีสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงจากการได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซี การได้รับสารอะฟลาทอกซิน (เกิดจากเชื้อราบางชนิดที่มักพบในอาหารแห้ง) ความเป็นพิษของแอลกอฮอล์หรือสารเสพติด และการได้รับสารเคมีที่เป็นสารก่อมะเร็ง

 มะเร็งปอด มีสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงมาจากการสูบบุหรี่ การได้รับรับสารเคมีที่เป็นสารก่อมะเร็งทางอากาศ

มะเร็งเต้านม มีสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงมาจากฮอร์โมนเพศหญิงอย่างเอสโตรเจน ซึ่งฮอร์โมนนี้ จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเมื่อมีปฏิกิริยากับแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ การบริโภคอาหารที่ปนเปื้อนสารก่อมะเร็งอย่าง อาหารปิ้งย่าง อาหารรมควัน การขาดการออกกำลังกาย ภาวะอ้วน รวมถึงการสัมผัสเข้ากับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่อาจปนเปื้อนมาในห่วงโซ่อาหาร เช่น ดีดีที ดีลดริน อัลดริน

มะเร็งปากมดลูก มีสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงจากการได้รับเชื้อ Human Papillomavirus (HPV) และปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศ

มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มีสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงจากการบริโภคเนื้อแดง เนื้อแปรรูป การบริโภคอาหารที่ปนเปื้อนสารก่อมะเร็งอย่างอาหารปิ้งย่าง อาหารรมควัน อาหารไขมันสูงหรือมีกากใยน้อย การขาดการออกกำลังกาย ภาวะอ้วน และการดื่มแอลกอฮอล์

     เหตุใดผู้ป่วยโรคมะเร็งในประเทศไทยจึงมีแนวโน้มสูงขึ้น สาเหตุส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมสุขภาพแทบทั้งสิ้น หลายคนมีอาการป่วยโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของเซลล์มะเร็งในการเปลี่ยนจากเซลล์ปกติกลายเป็นเซลล์มะเร็งนั้น จะมีกระบวนการที่ซับซ้อน ใช้เวลาหลายปีในการก่อโรคกว่าจะแสดงอาการ ส่วนสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งนั้น มีที่มาจากทั้งปัจจัยภายในร่างกาย อย่างเช่น พันธุกรรม ระบบภูมิคุ้มกัน ภาวะทางโภชนาการ และปัจจัยภายนอก คือการที่ไปรับสารก่อมะเร็งมาจากสิ่งแวดล้อม พฤติกรรมการดำเนินชีวิต พฤติกรรมการบริโภค การใช้สารเสพติด จนทำให้คนไทยมีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคมะเร็งสูงขึ้นนั่นเองขึ้น
ชายไทย-หญิงไทย เสี่ยงต่อมะเร็งอะไรบ้าง จากข้อมูลการจัดทำแผนการป้องกันและควบคุมโรงมะเร็งแห่งชาติ พ.ศ. 2561-2564 ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่าในปีพ.ศ. 2557 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง 70,075 คน เป็นเพศชาย 40,161 คน เพศหญิง 29,914 คน โดยโรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิต 5 อันดับแรกของชายไทยในปีพ.ศ. 2557 ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งช่องปากและคอยหอย มะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิต 5 อันดับแรกของหญิงไทยในปีเดียวกัน ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ซึ่งหากเปรียบเทียบอันดับและอัตราการเกิดโรคมะเร็งในปีพ.ศ. 2548 จะพบว่ามะเร็งที่พบมากที่สุด 3 อันดับแรกทั้งเพศชายและเพศหญิงนี้ยังคงเดิม

     อย่างไรก็ตามอัตราการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งเพศชายและเพศหญิง เมื่อเห็นดังนี้แล้ว โรคมะเร็งจึงไม่ใช่โรคที่จะทำเป็นเล่น ๆ หากไม่อยากเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต อย่าเพิ่มความเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะ "การสูบบุหรี่และควันบุหรี่" ถึงเวลาแล้วที่ต้องใส่ใจและดูแลสุขภาพกันแล้ว

ข้อมูลจาก : กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้